สมัยรัชกาลที่ 7
สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2468-2477)
ระหว่างปี พ.ศ. 2466 – 2472 พลโทพระยาเทพหัสดินได้สร้างสนามมวยหลักเมืองท่าช้างขึ้น บริเวณโรงละคร แห่งชาติในปัจจุบัน โดยลักษณะของเวทีมีเชือกกั้นเส้นใหญ่ขึ้น และแต่ละเส้นขึงตึงเป็นเส้นเดียวไม่เปิดช่องตรงมุม สำหรับขึ้นลงอย่างในยุคเก่า เพื่อป้องกันมิให้นักมวยตกเวทีตรงช่องดังกล่าว ต่อมาในปี พ.ศ.2472 รัฐบาลได้มีคำสั่งให้ยกเลิกมวยคาดเชือก โดยเปลี่ยนเป็นมวยสวมนวมแทนจากนักมวยฟิลิปินส์ที่มาชกมวยสากลในประเทศ เนื่องจากนายแพ เลี้ยงประเสริฐ นักมวยฝีมือดีจากบ้านท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ต่อยนักมวยต่างชาติเสียชีวิตด้วยหมัดคาดเชือก ต่อมาเจ้าคุณคธาธรบดีได้ริเริ่มจัดการแข่งขันชกมวยไทยขึ้นที่สวนสนุกภายในบริเวณสวนลุมพินีร่วมกับมหรสพอื่น ๆ โดยคัดเลือกเอานักมวยไทยฝีมือดีมาชกกันทุกวันเสาร์ เละเนื่องจากเจ้าคุณเป็นคนทันสมัยจึงได้สร้างเวทีมวยขึ้นตามอย่างมาตรฐานสากล คือ มีเชือกกั้นสามเส้น ใช้ผ้าใบปูพื้น มีมุมแดงมุมน้ำเงิน มีผู้ตัดสินให้คะแนน 2 คน และผู้ตัดสินชี้ขาดการแข่งขันบนเวทีอีก 1 คน โดยกำหนดให้ใช้เสียงระฆัง เป็นสัญญาณ จึงอาจกล่าวได้ว่านี่คือยุคแรกของมวยไทยในแบบฉบับสากล